ระบบเบรกเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้อย่างแม่นยำ ใช้ในการชะลอความเร็วหรือหยุดรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่เอง และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงรถยนต์ทุกรุ่นของ SUZUKI เช่น Celerio ก็มีการติดตั้งระบบเบรก ABS เสริมเข้ามาด้วย ทำให้หลายคนสงสัยว่าระบบเบรก ABS นั้นมีความพิเศษ หรือจำเป็นอย่างไร บทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเบรก ABS รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย และวิธีการใช้งานมาฝาก ตามไปอ่านกันได้เลย

ABS คืออะไร ABS ทำหน้าที่อะไร

ระบบเบรก ABS ย่อมาจาก Anti-lock Braking System เป็นระบบเบรกที่ถูกพัฒนามาเพื่อยกระดับความปลอดภัย หากเปรียบระบบเบรกทั่วไปเป็นรองเท้า ABS ก็คือยางบนพื้นรองเท้าที่ช่วยป้องกันการลื่นไถล แต่เบรก ABS ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา จะทำงานแค่เฉพาะตอนที่มีการเบรกมากกว่าปกติเท่านั้น เช่น เมื่อมีการเบรกแรงๆ แบบกะทันหันเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง หรือเบรกอย่างรุนแรงบนถนนที่เปียกลื่น เซนเซอร์จะตรวจจับความผิดปกติ และสั่งการให้ระบบเบรก ABS ทำงานโดยการคลายและจับผ้าเบรกซ้ำๆ เป็นจังหวะประมาณ 15-18 ครั้งใน 1 วินาที เพื่อป้องกันไม่ให้ล้อล็อกหรือล้อตาย รวมถึงป้องกันไม่ให้รถไถล 

ระบบเบรก ABS ดียังไง ระบบเบรก ABS ช่วยอะไรบ้าง

การที่รถเบรกกะทันหัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม มีโอกาสสูงที่ล้อจะล็อก เนื่องจากแรงเสียดทานระหว่างล้อกับถนนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ล้อสูญเสียการยึดเกาะ หมุนฟรี และไม่สามารถควบคุมหรือหยุดรถได้ ดังนั้นการมีระบบเบรก ABS เข้ามาช่วยป้องกันล้อล็อก จึงทำให้รถสามารถเคลื่อนตัวต่อไปบนพื้นถนนได้ และผู้ขับขี่ก็สามารถควบคุมรถเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง หรือหยุดรถได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งยังช่วยลดการสึกหรอของผ้าเบรกและยางรถยนต์ได้ด้วย

เมื่อ ABS ทำงาน ควรทำอย่างไร

เมื่อระบบเบรก ABS รถยนต์ทำงาน จะมีสัญญาณเตือนขึ้นที่หน้าปัด และอาจจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่แป้นเบรก มีอาการกระตุกเป็นจังหวะ หรือเสียงดังจากล้อ อาการเหล่านี้เกิดจากการคลายและจับผ้าเบรกซ้ำๆ ไม่ต้องตกใจ ให้ตั้งสติไว้ เหยียบเบรกหนักๆ ต่อไป อย่าปล่อยเบรก แล้วใช้สมาธิทั้งหมดควบคุมรถจนกว่าจะหยุดสนิทและปลอดภัย จึงถอนเบรกออกได้

สาเหตุที่ต้องป้องกันล้อล็อกจากเบรก ABS

สาเหตุที่ต้องมีระบบเบรก ABS มาช่วยป้องกันล้อล็อกก็เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะเวลาที่เบรกแรงๆ ล้อรถหยุดหมุนก็จริง แต่ตัวรถยังมีแรงส่งที่ทำให้เคลื่อนไปข้างหน้า คนขับจึงไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เช่น หมุนคว้างไปชนกับวัตถุรอบข้าง แต่พอมีระบบเบรก ABS เข้ามาช่วย ล้อจะไม่หยุดหมุน คนขับจะยังสามารถควบคุมทิศทางของรถต่อได้จนกระทั่งรถหยุดนิ่งสนิท 

ไฟ ABS โชว์ อันตรายไหม

หากระบบเบรก ABS ไฟเตือนขึ้นโดยที่ไม่ได้มีการเบรกกะทันหัน หรือขึ้นแล้วค้างอยู่ต่อเนื่อง อาจเกิดจากความผิดปกติต่างๆ เช่น สายไฟเซนเซอร์ ABS ขาด, น้ำมันเบรกรั่วไหล, จานเบรกสึกหรอ, มีคราบสนิม คราบสกปรก ฯลฯ หากถามว่าอันตรายไหม ตอนขับธรรมดาไม่ได้เป็นอันตราย เพราะระบบเบรกพื้นฐานยังคงทำงานได้อยู่ คล้ายกับการขับรถสมัยก่อนที่ไม่ได้ใส่ระบบเบรก ABS เข้ามา แต่หากจำเป็นต้องใช้ขึ้นมาแล้วระบบไม่ทำงาน ก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรนำเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็ก และแก้ปัญหาให้ตรงจุด 

ข้อดีและข้อเสียของเบรก ABS

ข้อดี : 

  • ช่วยให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • ช่วยให้ล้อไม่ล็อก เมื่อเหยียบเบรกกะทันหัน
  • ช่วยยืดอายุการใช้งานของยางรถยนต์ 

ข้อเสีย : 

  • ระหว่างเบรกทำงานจะเกิดเสียงดัง หรือแรงสั่นสะเทือน 
  • ทำให้ระยะการเบรกเพิ่มขึ้น จึงควรขับรถโดยเว้นระยะห่างจากคันหน้าให้พอดี เพื่อที่เวลาเบรก ABS ทำงานจะได้หยุดรถได้อย่างปลอดภัย 
  • มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงมากขึ้น และค่าซ่อมแพงกว่าระบบเบรกธรรมดา

ข้อห้ามในการขับขี่เมื่อมีระบบ เบรก ABS ไฟเตือนทำงาน

  • ห้ามตกใจ อาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่สติคือสิ่งที่ต้องมีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะบางคนเจอเสียงดังครืดๆ หรือมีแรงสั่น ก็จะยิ่งตกใจจนปล่อยเบรก หรือควบคุมรถไม่ได้ ทำให้เกิดอันตราย
  • ห้ามปล่อยเบรก หรือเหยียบเบรกย้ำๆ เพราะเมื่อปล่อยหรือผ่อนเบรก แรงดันน้ำมันเบรกจะต่ำลง ทำให้ระบบเบรก ABS รถยนต์ หยุดทำงาน หรือทำงานไม่ต่อเนื่อง และอาจทำให้รถสูญเสียการเกาะถนน 
  • ไม่ควรใช้กับถนนลูกรัง หากพื้นเป็นถนนลูกรัง สภาพผิวถนนขรุขระ เป็นโคลน มีเศษกรวดหิน ระบบเบรก ABS อาจจะทำงานได้ไม่ดี เนื่องจากยึดเกาะถนนได้น้อย ทำให้รถลื่น หรือต้องใช้ระยะเบรกที่มากกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรใช้ระบบเบรกธรรมดา จะหยุดรถได้ดีและปลอดภัยมากกว่า

แม้ว่าปัจจุบันระบบเบรก ABS จะเป็นมาตรฐานที่ต้องมีในรถทุกรุ่น แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ หรือใช้ไม่เป็น ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลและวิธีการใช้งานเอาไว้เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ ส่วนใครที่อยากทดลองขับรถยนต์รุ่นต่างๆ ของ SUZUKI สามารถนัดหมายได้ง่ายๆ เพียงแค่แอดไลน์  Line @mapornsuzuki  

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเบรก ABS

ระบบ ABS ควรเหยียบเบรคอย่างไร

ระบบเบรก ABS (Anti-lock Braking System) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้รถยนต์สามารถหยุดได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ล็อกล้อ ทำให้คนขับยังสามารถควบคุมทิศทางของรถได้ในขณะเบรกแรง ๆ หรือบนพื้นผิวลื่น เพื่อให้ระบบ ABS ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เบรก CBS กับ ABS ต่างกันยังไง

ABS ทำงานโดยตรวจจับการล็อกล้อของรถในขณะที่เบรก และสามารถปลดล็อกล้อได้ทันทีเพื่อให้รถยนต์ยังคงควบคุมได้ในขณะที่เบรก โดยลดความเสี่ยงในการสูญเสียการควบคุมหรือล้อล็อกในสภาวะการเบรกแรง ๆ หรือบนพื้นผิวลื่น
CBS คือระบบเบรกที่สามารถทำงานในตัวทั้งระบบเบรกหน้าและหลังพร้อมกัน หมายความว่าเมื่อเหยียบเบรกเพียงบางส่วน ระบบ CBS จะทำให้เบรกหลังทำงานด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการล็อกล้อ

ทำไมระบบ ABS ต้องควบคุมให้ลดความดัน น้ำมันเบรก

ระบบ ABS (Anti-lock Braking System) ต้องควบคุมให้ลดความดันน้ำมันเบรกเพื่อป้องกันการล็อกล้อขณะเบรก เนื่องจากการล็อกล้อสามารถทำให้รถยนต์สูญเสียการควบคุมและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่พื้นผิวถนนมีความลื่นหรือสภาวะการขับขี่ที่ฉุกเฉิน